วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการบริหารสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 อาทิ พระเมธีวรญาณ ประธานกรรมการบริหารสถาบันโพธิคยาฯ นายอภัย จันทนะจุลกะ รองประธานกรรมการฯ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ นายเกษม มูลจันทร์ และนายสุรพล มณีพงษ์ รองเลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล นายวรศักดิ์ ประยูรสุข และนางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการ รวมถึงตัวแทนองค์กรพันธมิตร เช่น นายเกชัง วังดิ เลขานุการเอก (ฝ่ายการงศุล) สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอินเดีย ประจำประเทศไทย พระมหานิพนธ์ ประสานดี Vice President Of International Buddhist Council Of Bodhgaya ตัวแทนศูนย์ศึกษาอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมประชุมเตรียมงานการจัด“โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิและการประกาศศตวรรษแห่งธรรม”
การจัด “โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 ”สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980 ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรสำคัญของสาธารณรัฐอินเดีย ประกอบด้วย Vivekananda Intrnational Foundation, India (VIF), International Center for Cultural Studies, India (ICCS) , International Buddhist Confederation (IBC) , The Light of Buddhadharma Foundation International (LBDFI) ,USA and International Tipitaka Chanting Council (ITCC) และ Mahabodhi Society Of Sri Lanka
การจัดโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิ และการประกาศศตวรรษแห่งธรรม ใช้เส้นทางปัตนะ-พุทธคยา-นิวเดลี-คุชราต ระหว่างวันที่ 3-10 ธันวาคม 2567
การจัด “โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิ” เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างอารยธรรมแม่น้ำโขง และแม่น้ำคงคา สนับสนุนการเผยแผ่พุทธธรรมไปทั่วโลก หลีกเลี่ยงความขัดแย้งสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการประกาศ “ศตวรรษแห่งธรรม”(Declaration of The Century of Dhamma)
จุดที่เป็น “ไฮไลท์” ของ “โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิ และการประกาศศตวรรษแห่งธรรม” คือ วันที่ 5 ธันวาคม 2567 มีการถวายสักการะใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระมหาเจดีย์พุทธคยา เพื่อรำลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพปีที่ 97 ของ“พระบาททสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9” และการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพปีที่ 72 ของ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10″
นอกจากนี้จะมี “การประกาศศตวรรษแห่งธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์“ นำโดยดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิยาวิชชาลัย980 ผู้นำและนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาจากภูมิภาคแม่น้ำโขง และแม่น้ำคงคา จะรวมตัวกันเพื่อยืนยันความสำคัญตลอดกาลของพุทธธรรมต่อมวลมนุษยชาติ
อีกหนึ่งโครงการที่สถาบันโพธิคยาฯเสนอคือ ”การฝัง Time Capsule“ หรือ “แคปซูลกาลเวลา” เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญในอดีตไว้ เพื่อให้คนในอนาคตได้รับทราบเหตุการณ์ในอดีตเลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ เสนอ “ช่วงเวลา“ ในการฝัง Time Capsule 234 ปี เหตุผลเพราะปี พ.ศ. 234 ”พระเจ้าอโศกมหาราช“ จัดให้มีการสังคายนา พระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หลังเสร็จสิ้นการสังคายนาพระองค์ทรงส่ง”คณะสมณทูต“ไปเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนต่างๆ รวม 9 สาย
อีกทั้งตัวเลขปี พ.ศ.234 ยังรวมกันได้เลข 9 เป็นตัวเลขที่ยึดโยงกับพระเจ้าอโศกมหาราช อีกทั้งยังน้อมรำลึกถึง ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในการประชุมของคณะกรรมการบริหารสถาบันโพธิคยาฯ มีการระดมความเห็นอย่างกว้างขวาง ดร.สุภชัย เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ เสนอให้เพิ่ม “จุดหมาย” ของขบวนธรรมยาตรา 4 จุด
จุดแรกคือเมืองนาลันทา ซึ่งเป็น ”บ้านเกิด” ของพระอัครสาวกทั้งสอง คือ”พระมหาโมคคัลลานะ“ และ ”พระสารีบุตร“ ทั้งยังเป็นเมืองที่เป็นแหล่งรวมนักปราชญ์และพระสงฆ์ผู้มีชื่อเสียงเช่น “พระอาจารย์อตีศะ“ จากทิเบต และ ”พระถังซัมจั๋ง“ จากจีน
จุดที่สองคือ “วัดเวฬุวัน” เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกจำนวน 1,250 รูป แล้วส่งไปเป็น “พระธรรมทูต” ประกาศพระศาสนา
จุดที่สามคือ “พระพุทธรูปองค์ดำ” สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.1353-1393 เป็น พระพุทธรูปเพียงองค์เดียวที่หลงเหลือจากการทำลายของคนต่างศาสนา ปัจจุบันชาวพุทธจะเดินทางไปสักการะ และอธิษฐานขอพรให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ
จุดที่สี่คือ “แคว้นกุรุ” ในสมัยพุทธกาล ผู้คนใฝ่ในธรรม ฉลาดและมีความคิดลึกซึ้ง เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงแสดง “พระธรรมเทศนา” ว่าด้วย “ธรรมะ” มีข้อความลึกซึ้ง เช่น มหาสติปัฏฐานสูตร แก่พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์แห่งแคว้นกุรุ
มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วย “การเจริญสติ” ที่เรียกว่า “สติปัฏฐาน 4“ อันเป็นทางสายเอกในอันจะนำพา ผู้ปฏิบัติไปสู่มรรคผลการบรรลุนิพพานได้ สติปัฏฐาน 4 มี 4 อย่าง เป็นการตามเห็น ตามดูให้เห็นแจ้งทั้ง กาย เวทนา จิต และธรรม ด้วยเหตุนี้สถาบันโพธิคยาฯ จึงเสนอให้เยือน“แคว้นกุรุ”ระหว่างที่อยู่ใน “กรุงนิวเดลี“ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2567 เพื่อจะให้คณะของสถาบันโพธิคยาฯได้ “ปฏิบัติกรรมฐาน” ตามแนวทางสติปัฎฐาน 4 เป็นการฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ทุกขณะจิต นำไปสู่ประตูสู่ปัญญาญาณ
ความสำคัญของแคว้นกุรุ อีกประการหนึ่งคือ ทางสาธารณรัฐอินเดีย มีโครงการจะพัฒนาที่ดินในแคว้นกุรุด้วยการสร้าง“สถูป”เพื่อเก็บรักษา “พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด“ จาก “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรือ National Musuem” เป็นการเทิดพระเกียรติองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเป็น Landmark ให้คนจากทั่วโลกมาสักการะบูชา
ในการประชุมวันนี้ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ ย้ำหลักการ 4 ข้อในการทำงานของสถาบันฯว่า หลักการแรก จะยกย่องเชิดชูพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงถือหลัก “ธรรมวิชัย” ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
หลักการที่ 2 และ 3 ที่สถาบันโพธิคยาฯ เน้น คือความเชื่อมโยงระหว่าง ธรรมยาตรา และ พระบรมสารีริกธาตุ เพราะการจัด ธรรมยาตราครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิ และการประกาศศตวรรษแห่งธรรม เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของ โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 3 มหานทีคงคา-ลุ่มน้ำโขง เป็นการอัญเชิญ “พระบรมสารีริกธาตุ” และ “พระอรหันตธาตุ” ของพระอัครสาวกทั้งสองจาก สาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย (มณฑลพิธีท้องสนามหลวง-เชียงใหม่-อุบลราชธานี-กระบี่) ช่วงระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2567
หลักการที่ 4 ที่สถาบันโพธิคยาฯให้ความสำคัญมาก คือ ศตวรรษแห่งธรรม (Dhamma Century) ซึ่งต้องให้เครดิต นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งสาธารณรัฐอินเดีย ที่กล่าวว่า “ศตวรรษที่ 21 คือ ศตวรรษแห่งเอเชีย แต่จะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มี พุทธศาสนา” แม้นายกฯของอินเดียจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ท่านเห็นว่า ศาสนาพุทธจะเป็นจุดเชื่อมสำคัญอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จของ “ศตวรรษแห่งเอเซีย”
ด้วยเหตุนี้ ดร.สุภชัย ในฐานะเลขาธิการสถาบันโพธิคยาฯ จึงมีวิสัยทัศน์ถึงการข้ามเขตแดนประเทศไปสู่ความร่วมมือของทุกศาสนาที่จะส่งเสริมแก่นของหลักธรรม เกิดเป็นแนวร่วม ว่า “ความสุข” จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจาก หลักธรรมของทุกศาสนา เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่มวลมนุษยชาติ
การประชุมวันนี้เป็นครั้งแรกของการเตรียมการโครงธรรมยาตราครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิ และการประกาศศตวรรษแห่งธรรม มีการแบ่งงานหลายฝ่าย และมอบหมายภารกิจให้แต่ละคนรับผิดชอบ เช่น ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายพิธีกรรม กิจกรรมและการเยี่ยมชมสถานที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร และฝ่ายอำนวยความสะดวกการเดินทาง ที่พักและของที่ระลึก
ช่วงหนึ่งของการประชุม นายอภัย ในฐานะรองประธานกรรมการฯ เสนอให้ทำ ”จดหมายรายงานมหาเถรสมาคม“ เกี่ยวกับ โครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 แม่โขง-คงคาสู่แดนพุทธภูมิ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะของสถาบันโพธิคยาฯเคยเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ โดยในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ นายอภัยจะนำคณะของสถาบันโพธิคยาฯ เข้าพบกับ “กรรมการมหาเถรสมาคม”
สำหรับของที่ระลึกที่สถาบันโพธิคยาฯ เตรียมไว้เป็น เข็มกลัดที่ระลึก ประมาณ 1,500 ชุด สำหรับมอบให้แขกวีไอพี เข็มกลัดที่ระลึก ออกแบบเป็นรูป ใบโพธิ์พื้นหลังสีเขียว สื่อถึง ความอุดมสมบูรณ์และเป็นหนึ่งในสีธงชาติของอินเดีย ส่วน สีทอง ที่เป็น องค์พระพุทธรูป ลายเส้นและข้อความ ”Dhamma Century” สื่อถึง สุวรรณภูมิ ไปยังแดนพุทธภูมิ