รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี

โพธิคยานาคาธิบดี โลโก้

รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี คือ รางวัลแห่งการยกย่องเชิดชูคุณความดีของพญานาคที่ได้บำเพ็ญโพธิธรรม เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงสืบไป

ความหมาย ของ รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ประกอบไปด้วย

ด้านล่างของรางวัล เป็นมหาสมุทร ซึ่งหมายถึงที่อยู่ของพญานาค

แกนกลางของรางวัล เป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และเขาพระสุเมรุหมายถึงสถานที่อยู่ของพญานาค

ดอกบัว หมายถึงสัญลักษณ์ที่อยู่เหนือโลก (โลกุตระ) ซึ่งหมายถึงพระพุทธศาสนา

พญานาค ที่พันรอบเขาพระสุเมรุและดอกบัว หมายถึงความผูกพันที่มีอยู่กับธรรมชาติ มหาสมุทร แม่น้ำ ป่าไม้ ภูเขา และพระพุทธศาสนา และยังหมายถึงการปกป้องคุ้มครองธรรมชาติและพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคง

ให้ความหมายโดย พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรเมธี ป.ธ.9 ,ผศ.ดร.)

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร , รองเจ้าคณะภาค 10

คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ออกแบบโดย อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ปี 2540 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) ศิลปินดีเด่นในด้านจิตรกรรมและสื่อผสมร่วมสมัยของไทย

ผลิตโดย ศานติ บ้านประติมากร เชียงใหม่

รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี เกิดขึ้นจากความซาบซื้งในคุณความดีขององค์พญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนามาอย่างโดดเด่น ตามหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนา และจากคำสอนของพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ปรากฏให้เห็นและรับรู้เป็นเรื่องราวมาเป็นเวลายาวนานกว่า 2600 ปี และได้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก และจากศรัทธาความเชื่อเรื่องพญานาคของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาตั้งแต่บรรพกาลผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน  ดังจะได้นำมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

เหตุการณ์ของพญากาฬนาคราช เกิดขึ้นในสมัยที่พระมหาบุรุษ ทรงได้รับการถวายข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเมื่อพระองค์เสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงลอยถาดทองคำและทรงตั้งจิตอธิษฐานที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราว่า หากพระองค์จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ถาดนี้ลอยทวนกระแสน้ำ และได้เป็นตามคำอธิษฐาน ถาดจมลงไปกระทบกับถาดทองคำของพระพุทธเจ้าในอดีตอีก 3 พระองค์ พญากาฬนาคราช ที่บรรทมอยู่ใต้แม่น้ำเนรัญชราได้ยินเสียงนั้น ทรงรู้ทันทีว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นแล้วอีก 1 พระองค์ในภัทรกัปนี้

เหตุการณ์ของพญามุจลินท์นาคราช ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ได้เสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 6 ณ ภายใต้ต้นมุจลินท์ เกิดมีฝนเจือลมตลอดทั้งสัปดาห์ พญานาคมุจลินท์นาคราชได้เอาลำตัวขนดรอบพระวรกาย และแผ่พังพานบนพระเศียรของพระพุทธองค์ เพื่อป้องกันมิให้แดดลมและฝนกระทบพระวรกาย และป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายทั้งปวงตลอด 7 วัน เมื่อฝนขาดหายแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพเข้าไปถวายอัญชลีพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ได้ทรงเปล่งพระอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุขสำหรับผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก การนำความถือตัวออกไปให้หมดเป็นสุขอย่างยิ่ง”

ปัจจุบันพญานาคได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพที่คอยปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ดูแลทุกข์สุข ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและคอยอำนวยผลเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร และดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จในสิ่งที่พึงปรารถนา ดังเช่น

องค์พญาศรีสุทโธนาคราช เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย ชอบจำศีลบำเพ็ญเพียรและปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ 

องค์พญาศรีสัตตนาคราช เป็นหนึ่งในพญานาคผู้มีฤทธิ์ ทรงศักดาอานุภาพ ปรากฏพบในตำนานอุรังคธาตุว่า พระศาสดาก็เสด็จไปสู่ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของนันทยักษ์แต่ก่อน มีนาคตัวหนึ่ง 7 เศียร ชื่อว่าศรีสัตตนาค เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ต่อมาสถานที่แห่งนั้นเกิดเป็นเมืองชื่อศรีสัตตนาค

องค์สัตตนาคาพญานาคราช ผู้ปกปักรักษาพระอุรังคธาตุ พระบรมธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้าที่องค์พระธาตุพนม

องค์พญาภุชงค์นาคราชเจ้า มีตำนานเล่าขานถึงการมีอยู่จริงขององค์พญาภุชงค์พญานาค ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ โดยผู้คนเชื่อว่า องค์ท่านสถิตย์บำเพ็ญเพียร ปกป้องพระพุทธศาสนาอยู่ ณ เขาหงอนนาค จังหวัดกระบี่ พิทักษ์รักษามนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ทั้งน่านน้ำอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ตลอดทั้งสถิตย์ อยู่ทุกหนแห่ง แผ่นดิน แม่น้ำ และภูเขา ในดินแดนพุทธศาสนา มีฤทธิ์ วิชาเวทย์ บำเพ็ญตบะเป็นฤๅษี เป็นพญานาคเพียงองค์เดียวที่อาศัยอยู่ชั้นพรหมได้ มีความรัก ความเมตตา รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้เรื่องราวพญานาคยังมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมชาวพุทธมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านการนำพามาซึ่งการเจริญทางพุทธิปัญญา และด้านการสร้างศรัทธาให้เกิดพลัง ซึ่งมีปรากฏให้เห็นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นงานศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม รวมถึงเรื่องเล่าในลักษณะตำนานพื้นบ้านและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีการสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

จากการจัดโครงการ ธรรมยาตราโพธิคยา 5 แผ่นดิน ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม  ของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา

ครั้งที่ 1 ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง (รายละเอียด)

ครั้งที่ 2 พุทธศาสตร์การทูตเพื่อสันติภาพโลก (รายละเอียด)

ตลอดเส้นทางผ่านพบว่าทุกวัดจะมีเรื่องราวและรูปปั้นพญานาคปรากฏอย่างแพร่หลายทั่วไป จึงเป็นที่มาของความคิดริเริ่มสนับสนุนการทำงานวิจัยหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” และทำให้คิดรวบรวมองค์ความรู้เรื่องพญานาคที่ถูกต้องให้ครอบคลุม เพื่อค้นหาความผูกพันขององค์พญานาคในการปกป้องพระพุทธศาสนา และทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อเรื่องพญานาคให้ปรากฏทั่วไป สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จึงได้ลงนามร่วมกับ คณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัย โดยมีคณะผู้วิจัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนา เพื่อจะนำองค์ความรู้ “ความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา” มายกระดับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และขอขึ้นทะเบียนรายการต่อองค์การยูเนสโกร่วมกัน 5 ประเทศ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้เล็งเห็นและซาบซึ้งถึงผลงานของบุคคล คณะบุคคล และองค์กร ที่อุทิศทุ่มเท เสียสละการทำงานสร้างคุณความดีต่อพระพุทธศาสนาเปรียบดั่งพญานาคราชในสมัยพุทธกาล ที่คอยปกปักษ์รักษาพระพุทธศาสนา จึงได้พิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติผู้ได้รับรางวัล จากหลักการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และดุลยพินิจของคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยสถาบันโพธิคยาฯ พิจารณาจากผลงานที่มีความโดดเด่นและมีความเชี่ยวชาญในผลงาน เป็นผู้อุทิศทุ่มเทเสียสละการทำงานสร้างคุณประโยชน์ในการ สนับสนุนส่งเสริมการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนาที่ได้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน  อีกทั้งเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติคุณ สร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจ เพิ่มพูนศรัทธาในการปฏิบัติอุทิศทุ่มเทของบุคคล คณะบุคคล และองค์กร ที่ได้รับรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี

พ.ศ. 2566
5 กุมภาพันธ์
พิธีมอบรางวัลครั้งที่ 1
รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ครั้งที่ 1
ผู้รับ รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้กำหนดการจัดพิธีมอบ รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ ให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลอย่างสมเกียรติ ณ สวนสาธารณะองค์พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช แก่งกะเบา ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ในวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี แบ่งสาขาในการรับรางวัล ดังนี้

1. สาขาส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา

2. สาขาพุทธศิลป์

3. สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

พ.ศ. 2567
9 สิงหาคม
พิธีมอบรางวัลครั้งที่ 2
รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ครั้งที่ 2

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้กำหนดการจัดพิธีมอบ รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลอย่างสมเกียรติ ณ องค์พญาภุชงค์นาคาธิบดี องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2567 

รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี แบ่งสาขาในการรับรางวัล ดังนี้

1. สาขาส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา

2. สาขาพุทธศิลป์

3. สาขาสื่อมวลชนเพื่อพระพุทธศาสนา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม