พุทธวิหารสาญจี อนุสรณ์สถานแห่งความรักในพระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นขับเคลื่อนวงล้อแห่งธรรมยุคพระเจ้าอโศกมหาราช สานสัมพันธ์ไทย อินเดีย จากธรรมยาตราครั้งที่ 3 “ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคา ลุ่มน้ำโขง” สู่ ธรรมยาตราครั้งที่ 4 “ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย” ร่วมประกาศศตวรรษแห่งธรรม เชื่อมทุกศาสนา สู่สันติสุขและสันติภาพ
เป็นความมหัศจรรย์ ไม่เคยมีการเสด็จพร้อมกันของพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ ซึ่งถูกเก็บเอาไว้ที่วิหารสาญจี เป็นเวลา 72 ปีเต็ม ภายใน 1 ปีมีเพียง 1 วันเท่านั้น ที่อัญเชิญขึ้นมาจากสถูป เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและกราบสักการะ คำบอกเล่าของ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 ณ วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย ตามโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 3 “ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคาลุ่มน้ำโขง “ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 19 มีนาคม 2567
พุทธวิหารสาญจี จะเต็มเปี่ยมไปด้วยคลื่นพลังศรัทธาของชาวพุทธอีกครั้ง ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่กำลังจะมาถึง จึงเป็นครั้งประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน เมื่อดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้ตอบรับคำเชิญจากพระอุปติสสะเถโร ให้เข้าร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เพราะสถูปสาญจี คือ มหาสถูปที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนา
พระเมธีวรญาณ ประธานกรรมการบริหารสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ท่านกล่าวถึงความสำคัญของพุทธสถานสาญจี ว่าเป็นสถูปแห่งแรกที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา หรือ แห่งแรกในโลก และยกให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรัก เพราะพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า แม้ไม่เคยเห็นพระพักตร์ของพระพุทธองค์ แต่ก็มีความรักและศรัทธาในคำสอน และยังเห็นว่าการประกาศเผยแผ่พระศาสนาไปชมพูทวีป เพราะมีอัครสาวก จึงสร้างสถูปสำหรับพระอัครสาวกทั้งสองขึ้นมาด้วยความรัก พร้อมทั้งส่งสมณทูตไปประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนา 9 สายด้วยกัน รวมทั้งดินแดนสุวรรณภูมิ และสร้างสถูปอีก 84,000 แห่ง
พระเจ้าอโศกมหาราชยังมีศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงให้พระราชโอรสและพระราชธิดาบวชเป็นภิกษุและภิกษุณี เพื่อส่งไปเป็นสมณทูตเผยแผ่พระศาสนาในศรีลังกา และนิพพานที่นั่น สาญจียังเป็นสถานที่แสดงออกถึงความรักต่อพระมเหสีของพระเจ้าอโศกมหาราช
สถูปสาญจีจึงเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของพระพุทธศาสนา ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนของวงล้อแห่งธรรม และสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ภายใต้การนำของ ดร.สุภชัย แม่ทัพธรรม ได้ผลักดันการขับเคลื่อนวงล้อธรรมในโครงการธรรมยาตรา มาแล้ว 3 ครั้ง เริ่มจากโครงการ”ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง”ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 3 “ ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคา ลุ่มน้ำโขง” และครั้งนี้เป็นโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 “ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย” สานต่อแนวทาง ศตวรรษแห่งธรรม หรือ Century Of Asia ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ที่จะใช้เป็นแกนหลักเชื่อมทุกศาสนาเพื่อนำไปสู่สันติสุข และสันติภาพ
เขียนโดย : ภัทชา ณิลังโส