เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย จัดงานอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดที่เคารพเทิดทูนยิ่งโดยจัดงานขึ้นที่โพธิมณฑล สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และที่วัดไทยพุทธคยา ตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
การจาริกครั้งนั้นทำให้กลุ่มผู้บวชได้เรียนรู้พุทธธรรม ก่อให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ได้ซาบซึ้งระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตระหนักเห็นคุณค่าการเดินทางไปศึกษาพุทธธรรมและการปฏิบัติตามรอยพระศาสดา และน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
เมื่อลาสิกขาบทแล้ว กลุ่มผู้บวชซึ่งมีฉายานามว่า “โพธิ” รวมกลุ่มตัวกันจัดตั้ง “ชมรมโพธิคยา 980” ขึ้นเพื่อหวังผดุงพระพุทธศาสนา และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ด้านการหนุนเสริมการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา
ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ คณะผู้บริหารและผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) นำโดยคุณฉันทวัฒน์ วรทัต ผู้อำนวยการหลักสูตร นำผู้เข้ารับการอบรม บ.ย.ส. รุ่น 12, 13, 14 เดินทางไปอุปสมบทแดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล และได้เข้าร่วมกับชมรมโพธิคยา 980 ร่วมกันระดมทุนสนับสนุนพระสงฆ์ให้เดินทางไปศึกษายังแดนพุทธภูมิ ดำเนินการจัดตั้งโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล ขึ้น โดยมี พระเดชพระคุณ พระพรหมวชิรนายก เป็นประธานโครงการ
จากนั้นคณะสมาชิกชมรมโพธิคยาฯ มีความเห็นพ้องกันให้ก่อตั้งและอุปถัมภ์ “สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980” ขึ้นเป็นองค์กรการกุศลให้การศึกษาอบรมด้านพระพุทธศาสนา และจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหนุนเสริมการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา มีพระเดชพระคุณ พระธรรมโพธิวงศ์,ดร. หัวหน้าพระธรรมทูตประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นผู้อำนวยหลักสูตร และ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เป็นเลขาธิการ
สถาบันโพธิคยาฯ มีฐานการปฏิบัติงานอยู่ที่สังเวชนียสถานและพุทธสถาน โดยระยะเริ่มแรกจัดตั้งศูนย์กลางการปฏิบัติงานขึ้นที่ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร (กาเซีย) จังหวัดเทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ต่อมาจัดตั้งวัดไทยพุทธคยาเป็นสำนักงานใหญ่ และ มีสำนักงานที่ประเทศไทยตั้งอยู่ที่ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
เพื่อสมทบทุนโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ ซึ่งดำเนินการจัดต่อเนื่อง 9 ครั้ง
โครงการผ่าตัดต้อกระจกให้ชุมชนชาวฮินดูเนปาลที่ยากไร้
สถาบันโพธิคยาวิชาลัย 980 โดย ดร.ศุภชัย วีรภุชงค์ เลขาธิการสถาบันฯ ร่วมกับวัดไทยลุมพินี พัฒนาต่อยอดโครงการ ผ่าตัดตาต้อกระจก ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ ซึ่งเป็นโครงการพระพุทธศาสนาปลดทุกข์ให้กับชาวอินโดฯเนปาลที่ยากไร้ โดยโครงการผ่าตัดต้อกระจกนี้ในช่วงแรกเริ่มเกิดขึ้นจากโครงการความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยที่มอบให้กับรัฐบาลเนปาล ด้วยการมอบเงินจำนวน 200,000 บาท ให้กับมูลนิธิความช่วยเหลือเพื่อการผ่าตัดตาต้อกระจก ของ นพ.สิทธัตถะ ศักย จักษุแพทย์ชาวเนปาล ซึ่งแต่เดิมใช้วัดพุทธของพระสงฆ์ชาวเนปาลในกรุงกาฐมาณฑุเป็นสถานที่ผ่าตัด แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านงบประมาณปัญหาเรื่องสุขอนามัยและความไม่เหมาะสมของสถานที่ ทำให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ชาวเนปาลถูกจำกัดตัวอยู่ในวงแคบแคบ เมื่อสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เริ่มเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางด้านงบประมาณ ในปี พ.ศ. 2552 ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกให้กับชาวเนปาลขยายขอบเขตต่อไปที่วัดไทยลุมพินี ทำให้พัฒนาความช่วยเหลือออกไปได้อย่างกว้างขวาง และมีการริเริ่มนำเอา จักษุแพทย์จากประเทศไทย เดินทางไปร่วมทำการผ่าตัดให้กับคนไข้ ทำให้โครงการขยายขอบเขตเพิ่มเติมออกไปอีกอย่างกว้างขวางจนปัจจุบันมีองค์กรทั้งจากภาครัฐเอกชนและองค์กรไม่แสวง กำไรของไทยเข้าไปร่วมกิจกรรมความช่วยเหลือต่อยอดให้ความสนับสนุนกับโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนปัจจุบัน 3 ารถให้ความช่วยเหลือผ่าตัดต้อกระจกให้กับชาวอินดูเนปาล ได้หลายหมื่นคนและมียอดบริจาคเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือชาวเนปาลที่ตกทุกข์ได้ยากจำนวนกว่า 20 ล้านบาท เป็นการลดภาระและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณรัฐบาลอีกเลย
สร้างโรงเรียน “เมตตา”
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่ปลูกฝังพระพุทธบัญญัติ จึงร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตณกรุงกาฐมาณฑุ สนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงเรียนเมตตา ด้วยการบริจาคงบประมาณการก่อสร้างให้กับมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ลุมพินี (Lumbini Social Service Foundation) โดยมีวัดไทยลุมพินีเป็นผู้ดำเนินการ และ เริ่มทำการก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จุดเริ่มต้นของมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ลุมพินี (Lumbini Social Service Foundation)มาจากการรวมตัวของเยาวชนที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาการฝึกฝนสมาธิและกิจกรรมสังคมสงเคราะห์จนในที่สุดได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนประถมศึกษาปัจจุบันโรงเรียนเมตตาเปิดให้การศึกษาและอบรมพระพุทธศาสนาแก่ เด็กยากไร้ชาวฮินดูเนปาลที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุมพินีและหมู่บ้านใกล้เคียงตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมต้นและมีนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่เป็นจำนวนมากถึง 750 คนการมอบเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนโรงเรียนเมตตาของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ชาวเนปาลรวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือ ทางพระพุทธศาสนาระหว่างไทยกับประเทศเนปาลให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นด้วย
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล รุ่นที่ 1
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ในโครงการนี้ สถาบันโพธิคยาฯ ได้รับเมตตาจาก พระเดชพระคุณ พระพรหมวชิรนายก (โอภาส นิรุตฺติเมธี ป.ธ.6) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เจ้าอาวาสวัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เมตตาเป็นประธานโครงการฯ และอำนวยการพิจารณาคัดเลือกพระสงฆ์ระดับพระสังฆาธิการจากจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 31 รูป เข้าศึกษาอบรมในโครงการ และไปอยู่จำพรรษาวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ กาเซีย อำเภอกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย เป็นเวลา 99 วัน.
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล รุ่นที่ 2
ผลสำเร็จจากการอบรมรุ่นแรก นำมาพัฒนาหลักสูตรพุทธภูมิศึกษาโดยเพิ่มการมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม จัดกระบวนการการศึกษาอบรมให้เชื่อมโยงนำสู่การมีผลการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คณะผู้บริหารหลักสูตรพุทธภูมิศึกษา จึงตั้งหัวข้อศึกษาค้นคว้าในรุ่นที่ 2 นี้ว่า “ธรรมวิชัยจากแดนพุทธภูมิ” มอบให้คณะพระสังฆาธิการที่เข้าร่วมในโครงการได้ค้นคว้าระหว่างเข้าอบรมและจำพรรษาถ้วนไตรมาส โดยศึกษาหลักธรรมจากพระไตรปิฎกและลงศึกษาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เกิดพุทธธรรม เพื่อวิเคราะห์วิจัยเชิงลึกในหัวข้อ “ธรรมวิชัยจากแดนพุทธภูมิ”ให้ได้ความรู้ที่ตกผลึก สามารถนำกลับไปเป็นคำสอนที่เชื่อมโยงกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น และคำสอนจากพุทธธรรมนั้นต้องนำมาพิจารณาสกัดมาจนหยั่งรากสู่การสร้างเสริมศรัทธาปัญญาพุทธบริษัทอย่างปฏิบัติได้และเห็นผลจริง โดยการรวบรวมวิธีคิดผ่านการวิปัสสนา และนำเสนอหลักธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการดูแลเพิ่มเติมศรัทธาเจตนาปัญญาสัมมาทิฐิสู่จิตใจชาวไทย ผ่านหนังสือสรุปผลงานโครงการที่ชื่อว่า “ธรรมวิชัยจากแดนพุทธภูมิ”
โครงการอุปสมบทหมู่สามเณรชาวฮินดู
โครงการร่วมมือระหว่าง สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และ วัดไทยลุมพินี ที่มอบโอกาสแก่เยาวชนชาวฮินดูให้ได้รับทุนเพื่อการบวชเรียนและศึกษาพระธรรมวินัย สร้างศรัทธาให้เกิดแก่ชาวฮินดูและได้ตระหนักถึงหลักธรรมที่เป็นจริงอันประเสริฐในคำสอนของ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาที่พุทธศาสนิกชนยึดถือ และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ดร.ศุภชัย วีรภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนเยาวชนชาวฮินดูเนปาลให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงพระธรรมวินัยคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกันกับตน ประกายแห่งความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับไปเจริญรุ่งเรืองในดินแดนพุทธภูมิ จึงบังเกิดขึ้นและเป็นที่มาของโครงการที่สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมสนับสนุนโครงการอุปสมบทหมู่สามเณรชาวฮินดูของวัดไทยลุมพินี
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล รุ่นที่ 3
ชื่อเสียงหลักสูตรพุทธภูมิศึกษา โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล เป็นที่เลื่องลือในแวดวงคณะสงฆ์ ถึงการศึกษาเชิงลึกจากสถานที่ก่อกำเนิดพระพุทธศาสนา เป็นเวลาถึง 1 พรรษา และการจำพรรษา ณ แดนพุทธภูมิ นั้น นับเป็นโอกาสที่ล้ำค่า
แนวทางการศึกษาของพระธรรมทูตโพธิคยารุ่น 3 พระเดชพระคุณ พระธรรมโพธิวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร ยังคงใช้แนวทางการนำเสนอบทเรียนสังคม จากการได้พบเห็นความเสื่อมที่รวดเร็ว พบความเจริญของโลก และการแสวงหาของผู้คนที่เลื่อนลอยห่างไกลจากแก่นธรรม มาตั้งเป็นหัวข้อศึกษา
เวลา 1 พรรษาในการศึกษาที่พุทธภูมิ เป็นการย้อนยุค ปลูกอุดมการณ์ เรียนรู้ดูความเจริญแห่งธรรมตามพุทธสถานให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วนำไปประกาศแก่ถิ่นไทยเมืองพุทธ ได้รับผล ส่งถึงความมั่นคงของชาติไทย พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์
พระธรรมทูตโพธิคยาต้องทุ่มเทศึกษาค้นคว้า นำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศมาเยียวยาสังคมและบำบัดภัยแก่โลก รักษาบำรุง ป้องกัน ด้วยการเตรียมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับปัญหาสังคม
โครงการนำโปรไทยสู่โลกแห่งธรรม ครั้งที่ 1
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำโปรไทยสู่โลกแห่งธรรม เก็บตัวฝึกสมาธิที่ จ.กระบี่ หวังนักกอล์ฟนำไปประยุกต์ใช้ในการแข่งขันในเวทีระดับประเทศและต่างประเทศ ที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท อ.เมือง จ.กระบี่ นายสมาน แสงสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “พุทธพลิกโลก สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำโปรไทยสู่โลกธรรม” โดยมีนายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 สาธารณรัฐอินเดีย กรรมการบริหารมูลนิธิวีระภุชงค์ และกรรมการผู้จัดการโภคีธรากรุ๊ป กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของโครงการ โดยมีการบรรยายธรรมสงฆ์ผู้ทรงคุณาวุฒิ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ ให้แก่โปรกอล์ฟชื่อดังของไทย และสื่อมวลชนสายกีฬา
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล รุ่นที่ 4
ปี พ.ศ. 2555 โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล รุ่น 4 นับเป็นปีพิเศษอีกปีหนึ่ง
สิ่งแรก คือ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980ได้รับพระเมตตาจากท่านเจ้าพระคุณ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ส่งพระวิปัสสนาจารย์เข้าร่วมโครงการฯ และนำปฏิบัติเจริญกรรมฐานตลอดโครงการ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์หลักสูตรพุทธภูมิศึกษา ด้วยเป้าหมายสถาบันฯ ต้องการเห็นพระธรรมทูตโพธิคยา มีความรู้ด้านปริยัติและปฏิบัติจนเกิดปฏิเวธ เกิดความเข้าใจพระธรรมคำสอนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำไปปรับใช้ บอกวิธีและนำปฏิบัติให้กับพุทธศาสนิกชนได้ รวมทั้งสามารถนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาตอบโจทย์ว่า ชาวพุทธควรวางตัววางใจอย่างไร จนสามารถนำหลักพระพุทธศาสนาไปแก้ทุกข์ แก้ปัญหาความขัดแย้ง แก้สิ่งไม่เป็นมงคลหรือสิ่งไม่เป็นคุณประโยชน์กับชาวพุทธได้
สิ่งต่อมา สถาบันฯ ปรับชื่อเป็น โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล โดยตัดคำว่า “ไทย” ออก และเปิดรับพระสงฆ์ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าอบรมด้วย โดยต้องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านชาวพุทธในแผ่นดินลุ่มน้ำโขง และในโอกาสนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี เทพวงศ์สมเด็จพระสังฆราช ราชอาณาจักรกัมพูชา ทรงมีพระเมตตาเป็นผู้คัดสรรพระสงฆ์กัมพูชาจำนวน 3 รูปเข้าร่วมโครงการฯ
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล รุ่นที่ 5
ปี พ.ศ. 2556 สถาบันได้ขยายงานตามแผน โดยเปิดรับพระสงฆ์จากประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา สหธรรมิกประเทศแผ่นดินลุ่มน้ำโขงให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้วย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากท่านเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี เทพวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ราชอาณาจักรกัมพูชา ทรงพระเมตตาเป็นผู้อำนวยการคัดเลือกพระสงฆ์จากกัมพูชาจำนวน 3 รูป และได้รับเมตตาจาก พระเดชพระคุณ พระอาจารย์ใหญ่ ดร. พระมหาผ่อง สะมะเลิก ประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คัดเลือกพระสงฆ์ลาว 2 รูป นอกจากนั้นยังมีพระเวียดนามอีก 2 รูป ซึ่งถือว่าการทำงานสถาบันฯ ได้บรรลุแผนงานและเป้าหมายของการกระชับสัมพันธไมตรีประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขงที่นับถือพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นกำแพงป้องกันคุ้มครองพระพุทธศาสนา มุ่งสร้างสังคมชาวพุทธตัวอย่าง ด้วยการฝึกอบรมพระสงฆ์ตามแนวทางในหลักสูตรพุทธภูมิ เน้นด้านวิปัสสนา การพิสูจน์ปริยัติด้วยการปฏิบัติ ให้เห็นปฏิเวธที่เกิดขึ้น
โครงการนำโปรไทยสู่โลกแห่งธรรม ครั้งที่ 2
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำโปรไทยสู่โลกแห่งธรรม เก็บตัวฝึกสมาธิที่ จ.กระบี่ หวังนักกอล์ฟนำไปประยุกต์ใช้ในการแข่งขันในเวทีระดับประเทศและต่างประเทศ ที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท อ.เมือง จ.กระบี่ นายสมาน แสงสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ “พุทธพลิกโลก สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำโปรไทยสู่โลกธรรม” โดยมีนายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 สาธารณรัฐอินเดีย กรรมการบริหารมูลนิธิวีระภุชงค์ และกรรมการผู้จัดการโภคีธรากรุ๊ป กล่าวรายงานถึงความเป็นมาของโครงการ โดยมีการบรรยายธรรมสงฆ์ผู้ทรงคุณาวุฒิ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ ให้แก่โปรกอล์ฟชื่อดังของไทย และสื่อมวลชนสายกีฬา
โครงการพุทธพลิกโลกสัญจร
ครั้งที่ 1 – จัดทำร่วมกับ จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย
ครั้งที่ 2 – จัดทำร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา
ครั้งที่ 3 – จัดทำร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล รุ่นที่ 6
โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดียเนปาล รุ่น 6 เป็นการเปิดรับพระสงฆ์เข้าอบรมเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนปิดโครงการ เพื่อขยายขอบเขตไปทำงานโครงการต่าง ๆ เพื่อหนุนเสริมการเผยแผ่การเผยแผ่ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเพิ่มมากขึ้น
การอบรมพระสงฆ์ที่เข้าโครงการฯ ยังคงเน้นการศึกษาด้วยปลูกอุดมการณ์ การเป็นพระธรรมทูตเผยแผ่พุทธธรรมขององค์พระศาสดา พระธรรมทูตโพธิคยาต้องตั้งศรัทธาและเจตนาให้มั่นคง ใช้เวลา 1 พรรษา เพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สมกับที่พระพุทธองค์ทรงไว้วางพระทัยก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า พุทธบริษัทของพระพุทธองค์นั้นจะตั้งมั่นในธรรม ประพฤติธรรม และสืบต่อ ตลอดจนปกป้องพระพุทธศาสนาได้
โครงการพุทธพลิกโลกสัญจร
ครั้งที่ 4 – จัดทำร่วมกับ จังหวัดมหาสารคาม
โครงการพุทธพลิกสุวรรณภูมิ
การประชุมพระสงฆ์ 4 ประเทศ ไทย กัมภูชบา เวียดนาม และ สปป.ลาว ในหัวข้อการเสวนา เรื่อง “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ ธรรมวิชัยพลิกปัญหาสู่มรรคา
ดร.สุภชัยวีระภุชงค์ เลขาธิการ กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมเสวนา “โพธิคยา 980 พุทธพลิกสุวรรณภูมิ ธรรมวิชัยพลิกปัญหาสู่มรรคา ” ความสำคัญของพุทธพลิกสุวรรณภูมิ คือผมทำงานอยู่ในภูมิภาคนี้มา 24 ปี เต็ม ก็ประกอบกับรัฐบาลใกล้จะเปิด AEC ในปีหน้าก็เล็งเห็นวิธีคิดของผู้นำในรัฐบาล ของนักธุรกิจ ชาวบ้านสิ่งแรกที่ผมเห็นชัดเจน แล้วกล้าที่จะพูดได้ก็คือ ณ วันนี้ความเชื่อมโยงในมิติของ AEC ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริง ปัญหาหลักเลยคือแนวคิดของคน ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธด้วยกันเองยังมีแนวคิดในเชิงการแข่งขัน ในการเอาชนะคัดคาน เป็นประเด็นแรกที่เรามองเห็น ฉะนั้นถ้าเป็นประเด็นตรงนี้เราไม่สามารถที่จะขจัดปัดเป่าไปได้ การเชื่อมโยงในดินแดนสุวรรณภูมิ ก็อาจจะไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงผลประโยชน์และอยู่บนพื้นฐานหลักธรรม ตามแนวทางพระพุทธศาสนาได้อย่างปักหลักมั่นคงเพื่อลูกหลานของเราได้ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ประเด็นธรรมวิชัยพลิกปัญหา สู่มรรคา ประเด็นตรงนี้เราเห็นอนาคตครับว่า อีก 5 ปี 10 ปี 20ปี ถ้าไม่สามารถที่จะใช้กระแสธรรม ในการสู้ในการหมุนไปของกระแสโลกาภิวัฒน์ หรือกระแสโลกียะได้ เราเชื่อในอนาคต การถาโถมมาของกระแสโลกาภิวัฒน์ จะทำให้ภูมิภาคเราเกิดสังคมที่เรียกว่ากลียุค สิ่งต่างๆเหล่านี้มันจะต้องเกิดขึ้น ถ้าพวกเราถึงวัยปัจฉิมวัย หรือพระภิกษุสงฆ์ หรือ อุบาสกอุบาสิกา จะเป็นพุทธบริษัท ๔ ไม่จับมือร่วมกัน เหมือนกันเช่นในอดีตสมัยพุทธกาล อันนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก แล้วเราอยากจะใช้ชีวิตทุกวัน เปรียบเสมือนวันสุดท้ายของชีวิต ตามที่พระเดชพระคุณ พระธรรมวรนายกได้สอนเรามา นี่เป็นความต้องใจของพวกเราตั้งสถาบันขึ้นเพื่อพลิกวิกฤตรงนี้ให้เป็นโอกาส เพราะทุกวิกฤต เราสามารถสร้างโอกาสได้ และทุกปัญหา ก็สามารถที่จะทำให้เกิดมรรคาหรือเส้นทางการเดินได้ เพราะฉะนั้น พวกเราชาวโพธิ ไม่เคยกลัวปัญหา เพราะปัญหาทำให้เราเข็มแข้ง ทำให้เราเกิดปัญญา
ผมก็อยากจะขอใช้เวลาสั้นๆในช่วงนี้ในการส่งแนวคิดของสถาบันที่อยากจะสรุปเป็นแนวทางในทางปฏิบัติในการนำพระธรรมมาใช้เพื่อสร้างสังคมให้เป็นสุข
โครงการพุทธพลิกสุวรรณภูมิ
การประชุมพระสงฆ์ในหัวข้อการเสวนา เรื่อง “พุทธศาสตร์การทูต”
โครงการพุทธพลิกสุวรรณภูมิ
การประชุมพระสงฆ์ในหัวข้อการเสวนา เรื่อง “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” คณะสงฆ์อาเซียน 5 ประเทศ ประกอบด้วยไทย เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ได้ร่วมงานเสวนา “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ : สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ ที่โรงแรมโซพิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ สปา รีสอร์ท จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ย้อนยุค ปลุกอุดมการณ์ ดูงานพระอริยสงฆ์ สานตรงต่อพุทธปณิธาน โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ความมุ่งหวังของการจัดโครงการฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์ที่เข้าร่วมโครงการ ให้เกิดศรัทธาอย่างลึกซึ้ง เติมความรู้ เพิ่มมุมมอง สร้างเสริมจริยวัตรที่งดงามต่อสายต่อสังคมโลก และปฏิบัติธรรมในสถานที่จริง จนความศรัทธา สามารถนำความรู้ที่เพิ่มพูนด้วยความเข้าใจที่มากขึ้น กลับสู่การพัฒนาสังคมไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความสงบ และมุ่งหวังเชื่อมโยงมิติทางศาสนา สู่การพัฒนาการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระอาจารย์ใหญ่ ดร. พระมหาผ่อง สะมาเลิก เจ้าอาวาสวัดองค์ตื้อ ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนสัมพันธลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แสดงสัมโมทนียกถา และกล่าวเปิดงาน His Holiness Sayadaw Ku Mara Bhivamsa สมเด็จพระสังฆราชจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียรม่าร์ แสดงสัมโมทนียกถา Most Ven. Dr. Thich Thien Tam Vice President of Executive Council Vietnam Buddhist Sangha (VBS) Abbot of Pho Minh Pagoda รองประธานสมัชชาสงฆ์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แสดงสัมโมทนียกถา พระธรรมวรนายก ประธานโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา แสดงสัมโมทนียกถา พระเทพโพธิวิเทศ แสดงสัมโมทนียกถา
โครงการเตรียมพระธรรมทูต
จัดขึ้นที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี 989 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับพระสงฆ์ที่จะเดินทางไปศึกษา และปฏิบัติธรรม ที่ดินแดนพุทธภูมิประเทศอินเดีย – เนปาล
งานเสวนาความเสื่อมของพุทธบริษัท : แนวทางที่ควรแก้ไข
ธรรมยาตราโพธิคยา ครั้งที่ 1
ตามรอยพระอริยะสงฆ์ลุ่มน้ำโขง
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ชมรมโพธิคยา 980 มูลนิธิวีระภุชงค์ พร้อมภาคีเครือข่าย 5 ประเทศ ร่วมมือร่วมใจจัดงาน ธรรมยาตราโพธิคยา ครั้งที่ 1 โดยใช้ชื่อ “ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง” ด้วยการนำพุทธบริษัท 5 ประเทศ จำนวนกว่า 200 รูป/คน ธรรมยาตราจากจังหวัดอุบลราชธานี สู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อไปถึงสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กลับสู่ราชอาณาจักรไทย การจัดงานในครั้งนี้มีจำนวนผู้คนมาร่วมบุญหลายหมื่นคน บังเกิดความปีติสุขให้แด่พุทธบริษัททั้ง 5 ประเทศ อย่างถ้วนทั่ว โดยได้รับความร่วมมือจาก องค์กรสงฆ์ รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ไปจนระดับพ่อค้าประชาชน รวมระยะเวลาการเดินทางเพื่อทำกิจกรรมกุศล ในวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นเวลา 15 วัน จำนวน 34 แห่ง ใน 5 ประเทศ พร้อมได้อัญเชิญหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากเมืองคยา ประเทศอินเดียลงปลูก 15 ต้น เพื่อเป็นสักขีพยานในการสร้างสันติธรรม และการผูกมิตรไมตรีชาวพุทธ ที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีตสืบทอดต่อมาถึงปัจจุบัน
กราบพระธาตุแดนอีสาน
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ชมรมโพธิคยา 980 มูลนิธิวีระภุชงค์ จัดทริปแสวงบุญพานำไหว้พระธาตุอีสาน ตอกย้ำถึงความเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยพุทธ
กราบพระธาตุแดนเหนือ
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดกิจกรรมสักการะพระธาตุ และสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธ ทางภาคเหนือ โดยการจัดกิจกรรมไหว้พระธาตุภาคเหนือในครั้งนี้เพื่อนำสมาชิกของชมรม และผู้ให้การสนับสนุน กราบสักการะพระธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการสำรวจเส้นทางในการจัดงาน ธรรมยาตราโพธิคยา ครั้งที่ 2 ที่จะเริ่มเส้นทางขากจังหวัดทางภาคเหนือ
ธรรมยาตราโพธิคยา ครั้งที่ 2
พุทธศาสตร์การทูตสู่สันติภาพโลก
พุทธศาสตร์การทูตสู่สันติภาพโลก จัดขึ้นเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี สร้างสามัคคีพุทธบริษัทลุ่มน้ำโขง ตามแนวคิดการใช้หลัก “พุทธศาสตร์การทูตสู่สันติภาพโลก” จึงเป็นความเชื่อมั่นว่าสัมพันธไมตรีชาวพุทธ จะเชื่อมโยงปวงชนในลุ่มน้ำโขงไว้ได้ ด้วยพลังศรัทธาในพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมุ่งหวัง ความสุขจากศีลและธรรมของปวงชนทุกระดับอันเป็นทางปฏิบัติสายหลักในการขับเคลื่อนประเทศลุ่มน้ำโขงสู่สันติภาพด้วยพระพุทธศาสนา และสามารถหยั่งลึกลงถึงวิธีคิด ก่อให้เกิดสัมมาทิฐิในการดำเนินชีวิต มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ รู้จักเหตุและผล แบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เอาเปรียบแก่งแย่งกัน แน่นแฟันด้วยความเป็นญาติธรรม ซึ่งเป็นความจริงทุกสมัย และยังไม่มีใครหักล้างคำสอนของพระพุทธองค์ว่า “ผิด” แม้แต่ประการเดียว
งานวิสาขบูชาโลก
มูลนิธิวีระภุชงค์ โดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ให้การสนับสนุนการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก ที่ ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ร่วมกับองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2562 ที่วัดพระธาตุหลวงใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ในการนี้ ดร.วินัย และคุณนวลละออ วีระภุชงค์ เดินทางไปให้การสนับสนุนการจัดงานด้วยตัวเอง เพราะต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นจุดเชื่อมต่อ
มหาบุญจุลกฐิน
มูลนิธิวีระภุชงค์ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เป็นเจ้าภาพกองปฐมจุลกฐิน นำคณะญาติธรรมร่วมกองบุญมหาบุญจุลกฐิน ในวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ณ วัดพระธรรมวรนายก ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
งานวิจัยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคลุ่มน้ำโขง
“สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย” ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) และสัญญา งานวิจัยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค ร่วมกัน กับ”คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เรื่อง”อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 แผ่นดิน”
งานวิจัยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคลุ่มน้ำโขง
งานวิจัยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากตลอดการเดินทางในงาน ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ที่ผ่านมา พบว่าทุกวัดมีเรื่องราวและรูปปั้นพญานาค จึงทำให้คิดถึงการรวบรวมองค์ความรู้เรื่องพญานาคที่ถูกต้องให้ครอบคลุม เพื่อค้นหาความผูกพันขององค์พญานาคในการพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนา และทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อเรื่อง พญานาคให้ถูกต้อง สถาบันฯ จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” ขึ้น ซึ่งมีคณะผู้วิจัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนา จากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดย พระเดชพระคุณ พระเมธีวรญาณ ป.ธ.9 ผศ.ดร. รองคณบดีฝ่ายบริหาร รับเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยทั้งชุด
การเดินทางเพื่อสักการะนาคบารมี
พิธีบวงสรวงองค์พญานาคและทวยเทพ
เนื่องในโอกาสงานสรุปโครงการวิจัย “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” โดย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มูลนิธิวีระภุชงค์ ร่วมกับ คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยคณะผู้วิจัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ของคณะสงฆ์ไทยและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนาจากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดย พระเดชพระคุณ พระเมธีวรญาณ คณบดีฝ่ายบริหาร รับเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยทั้งชุด จึงขอถือโอกาสมงคลนี้จัดพิธีเจริญพุทธมนต์และบวงสรวงองค์พญานาคและทวยเทพให้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรา และสนับสนุนอวยชัยให้พวกเราได้ทำการอันเป็นกุศลนี้สำเร็จ ระหว่างวันพุธที่ 6 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
สุดท้ายคือการแสดงกตัญญูกตเวทิตา ด้วยการแผ่บุญอุทิศกุศลไปยังองค์พญานาคทั้งหลายและทวยเทพทั้งหลาย ซึ่งจัดขึ้นที่วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ตำบลนาสีนวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ในวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น.เพื่อให้ท่านได้อนุโมททนาในกุศลผลบุญของพวกเราเพื่อเป็นพลวปัจจัย เป็นฐานตามส่งให้เกิดปัญญาญาณ จนเข้าถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน
พิธีมอบรางวัลโพธิคยานาคาธิบดี
รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี คือ รางวัลแห่งการยกย่องเชิดชูคุณความดีของพญานาคที่ได้บำเพ็ญโพธิธรรม เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงถาวรสืบไป เกิดขึ้นจากความซาบซื้งในคุณความดีขององค์พญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนามาอย่างโดดเด่น ตามหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนา และจากคำสอนของพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ปรากฏให้เห็นและรับรู้เป็นเรื่องราวมาเป็นเวลายาวนานกว่า 2600 ปี และได้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก และจากศรัทธาความเชื่อเรื่องพญานาคของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาตั้งแต่บรรพกาลผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ธรรมยาตราโพธิคยา ครั้งที่ 3
พระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคาลุ่มน้ำโขง
เป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นงานธรรมยาตราเชื่อมดินแดนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากมหาธรรมนทีคงคาอินเดีย สู่แผ่นดินแห่งพุทธธรรมลุ่มน้ำโขงไทย นำเสด็จฯ โดยพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพิพิธภัณท์สถานแห่งชาติอินเดีย ตามเสด็จฯ โดยพระสารีริกธาตุของอัครสาวกซ้าย-ขวา พระสารีบุตร พระมหาโมคคลานะ จากมหาสถูปสาญจี อินเดีย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม พ.ศ.2567 โครงการฯ ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันโพธิคยาวิชาลัย 980 รัฐบาลอินเดีย รัฐบาลไทย เพื่อเชื่อมต่อและเผยแผ่พลังศรัทธาของประชาชนในพุทธธรรมของทั้ง 2 ภูมิภาคให้มั่นคงสืบไป สร้างอานิสงส์ของหลักธรรมให้เกิดพลังสามัคคี และความดีของมวลมนุษยชาติ อยู่ร่วมกันอย่างสันติบนหลักปรัชญาพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นโอกาสให้ประชาชนได้กราบสักการะ รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการเสด็จฯ ขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อประทานพรโปรดพุทธศาสนิกชน หลังจากว่างเว้นไปเกือบ 1 ศตวรรษ การเสด็จฯ ของพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้นั้นเปรียบประดุจเสด็จโดยพระพุทธองค์เอง การถวายการรับเสด็จจึงเปิดโอกาสให้พุทธบริษัทสามารถดำเนินกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันในด้านต่าง ๆ อาทิ ศาสนาพิธี และศาสนาธรรม เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธรรมะให้เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดความรัก ความสามัคคี และสร้างสันติสุขโดยธรรมให้เกิดขึ้นในแผ่นดินเอเชีย อันเป็นแผ่นดินกำเนิดของพระพุทธศาสนากำเนิดและประดิษฐานอย่างมั่นคงเป็นเวลากว่า 2600 ปีมาแล้ว
Head Office
Wat Thai Buddhagaya (Royal Thai Monastery Buddhagaya),
Bodhgaya Pin.824231, Dist. Gaya, State; Bihar, India
Mob.+919973633833
Thailand Office
14 Ngamwongwarn 8 Alley BangKhen
Mueang Nonthaburi Nonthaburi 11000