ความหมาย สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980
โพธิ หมายถึง โพธิญาณ คือ ปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
คยา หมายถึง ที่ตั้งอยู่ของสถานที่ตรัสรู้ในพุทธคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย
วิชชาลัย หมายถึง แหล่งความรู้แจ้งทางปัญญา การศึกษาค้นคว้าในระดับมหาวิทยาลัยเปิด
980 หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เจริญพระชนมายุ 80 พรรษา
งานสืบทอดโดยตรงจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การเผยแผ่พระธรรมเป็นงานสืบทอดโดยตรงต่อจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นงานที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยพระหัตถ์ และปฏิบัติด้วยพระพุทธองค์เอง เพียงพรรษาแรกก็ทรงหมุนกงล้อ พระธรรมเคลื่อนทั่วชมพูทวีป
งานเผยแผ่เป็นพุทธวิธีแห่งสันติภาพ และสิ่งสำคัญโดยตรงที่ทำให้พระพุทธศาสนาก้าวไกลมากว่า 2000 ปี นั้นคือหัวใจและกำลังใจในการทำงานของคณะพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ที่หันมาร่วมทำงานกับองค์พระศาสดา ด้วยเข้าใจอย่างซาบซึ้งถูกต้องว่า พระพุทธองค์ทรงสอนในสิ่งที่คนอื่นรู้ตามได้ ได้ประโยชน์กับชีวิต และแก้ไขทุกข์ได้จริง
กุศลเจตนาทำความดีต่อพระพุทธศาสนา
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ก่อกำเนิดด้วยกุศลเจตนาตั้งมั่นของพุทธบริษัททุกภาคส่วน มาร่วมประชุมกัน ตั้งใจทำคุณงามความดี อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม เพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่พระพุทธองค์ทรงไว้วางพระทัยก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า พุทธบริษัทของพระพุทธองค์นั้น จะสามารถตั้งมั่นในธรรม ประพฤติธรรม และสืบต่อพระพุทธศาสนา ตลอดจนปกป้องพระพุทธศาสนาได้
พ.ศ.2550
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย จัดงานอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดที่เคารพเทิดทูนยิ่งโดยจัดงานขึ้นที่โพธิมณฑล สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และที่วัดไทยพุทธคยา ตำบลพุทธคยา อำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
การอุปสมบทครั้งนั้นมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และประชาชน เข้ารับการอุปสมบทจำนวน 86 รายหลังจากคณะผู้บวชอุปสมบทได้จาริกไปยังสังเวชนียสถาน และพุทธสถานที่สำคัญ ในสาธารณรัฐอินเดีย และสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล
การจาริกครั้งนั้นทำให้กลุ่มผู้บวชได้เรียนรู้พุทธธรรม ก่อให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ได้ซาบซึ้งระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตระหนักเห็นคุณค่าการเดินทางไปศึกษาพุทธธรรมและการปฏิบัติตามรอยพระศาสดา และน้อมนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
พ.ศ.2550 – พ.ศ.2552
เมื่อลาสิกขาบทแล้ว กลุ่มผู้บวชซึ่งมีฉายานามว่า “โพธิ” รวมกลุ่มตัวกันจัดตั้ง “ชมรมโพธิคยา 980” ขึ้นเพื่อหวังผดุงพระพุทธศาสนา และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ด้านการหนุนเสริมการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา
ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาทิ คณะผู้บริหารและผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) นำโดยคุณฉันทวัฒน์ วรทัต ผู้อำนวยการหลักสูตร นำผู้เข้ารับการอบรม บ.ย.ส. รุ่น 12, 13, 14 เดินทางไปอุปสมบทแดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล และได้เข้าร่วมกับชมรมโพธิคยา 980 ร่วมกันระดมทุนสนับสนุนพระสงฆ์ให้เดินทางไปศึกษายังแดนพุทธภูมิ ดำเนินการจัดตั้งโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล ขึ้น โดยมี พระเดชพระคุณ พระพรหมวชิรนายก เป็นประธานโครงการ
จากนั้นคณะสมาชิกชมรมโพธิคยาฯ มีความเห็นพ้องกันให้ก่อตั้งและอุปถัมภ์ “สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980” ขึ้นเป็นองค์กรการกุศลให้การศึกษาอบรมด้านพระพุทธศาสนา และจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหนุนเสริมการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา มีพระเดชพระคุณ พระธรรมโพธิวงศ์,ดร. หัวหน้าพระธรรมทูตประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นผู้อำนวยหลักสูตร และ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เป็นเลขาธิการ
สถาบันโพธิคยาฯ มีฐานการปฏิบัติงานอยู่ที่สังเวชนียสถานและพุทธสถาน โดยระยะเริ่มแรกจัดตั้งศูนย์กลางการปฏิบัติงานขึ้นที่ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร (กาเซีย) จังหวัดเทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ต่อมาจัดตั้งวัดไทยพุทธคยาเป็นสำนักงานใหญ่ และ มีสำนักงานที่ประเทศไทยตั้งอยู่ที่ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
พ.ศ.2552 – พ.ศ.2557
ด้วยการตระหนักคุณค่าการไปศึกษาพระธรรม ที่แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล อันเป็นสถานที่ฝึกตนให้เป็นพระธรรมทูตโพธิคยา ผู้สามารถนำพาสิ่งที่ดีงาม ตามพระธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับไปใช้เป็นกำลังในการนำพาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้
การอบรมพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ในโครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล และหลักสูตรพุทธภูมิศึกษา จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นหลักให้ค้นคว้าศึกษาธรรมจากพระไตรปิฎกจากสถานที่กำเนิดพุทธธรรม ดูแลหลักสูตรจากผู้เชี่ยวชาญโดย พระครูนิโรธบุญญากร, ดร. พระอาจารย์ใหญ่ประจำสถาบัน และคณะพระอาจารย์ประจำสถาบัน นำลงพื้นที่ศึกษาทั้งปริยัติ ปฏิบัติเชิงลึก ที่สังเวชนียสถาน และพระพุทธสถานสำคัญในอินเดีย-เนปาล เป็นเวลา 1 พรรษา ณ แดนพุทธภูมิ
ในจุดเริ่มต้นสถาบันโพธิคยาฯ ให้การอบรมเฉพาะพระสังฆาธิการไทย ต่อมาขยายการอบรมไปสู่พระสงฆ์ในประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง กัมพูชา ลาว เวียดนาม จึงดำเนินการปรับชื่อโครงการ ตัดคำว่า “ไทย” ออก จากนั้นใช้ชื่อว่า โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ อินเดีย – เนปาล และใช้หลักสูตรพุทธภูมิศึกษาเช่นเดิม
โดยสรุป มีพระสังฆาธิการเข้าอบรมทั้งหมด 196 รูป จำนวน 6 รุ่น ๆ ละ 32 รูป จบหลักสูตรเป็นพระธรรมทูติโพธิคยา ผู้ผ่านการศึกษาพุทธรรมเกิดศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ได้ผลสัมฤทธิ์ คือ ได้รับความรู้ประสบการณ์จากแดนพุทธภูมิกลับไปเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชนในแดนพุทธภูมิและภูมิลำเนาเดิม
อุปถัมภ์โครงการโดยชมรมโพธิคยา 980 เงินทุนจากการจัดแข่งขันกอล์ฟโพธิคยา
พ.ศ.2557 - ปัจจุบัน
ความตั้งใจมุ่งมั่นทำงานหนุนเสริมการเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา เพื่อผดุงส่งเสริมค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้มั่นคง ขยายฐานการปฏิบัติงานจากสังเวชนียสถาน แดนพุทธภูมิ อินเดีย-เนปาล มาสู่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง แดนสุวรรณภูมิ โดยจัดโครงการที่มุ่งสนับสนุนการนำพุทธธรรมไปพลิกสถานการณ์ที่ไม่สงบสุขให้สงบสุข สร้างความตระหนักถึงจุดยืนร่วมกัน คือ การเป็นพุทธบริษัทในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จากฐานคิดของสถาบันเช่นนี้ ขับเคลื่อนด้วยพลังสามัคคี และแรงอธิษฐานบารมีให้เกิด พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ เพื่อนำพุทธธรรมคำสอนเข้าสู่หัวใจของพุทธศาสนิกชน จุดประกาย ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงความไร้พรมแดนของความรักแห่งเมตตาธรรมที่ชาวพุทธสื่อถึงกันได้ และพุทธธรรมคำสอนนั้นสร้างสันติภาพให้โลกนี้ได้จริง พ้นทุกข์ได้จริง
พ.ศ.2556 - พ.ศ.2559
สถาบันโพธิคยาฯ ดำเนินการจัดโครงการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ปลุกจิตศรัทธาพุทธบริษัทให้มั่นคงในพระรัตนตรัย เชิญชวนศึกษาเรียนรู้และนำพุทธธรรม มาปรับใช้ในทุกสถานการณ์ อาทิ โครงการพุทธพลิกโลกสัญจร โครงการเสวนาที่มีประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โครงการพุทธพลิกสุวรรณภูมิ โดยการจัดประชุมผู้นำทางการทูตในหัวข้อ “พุทธศาสตร์การทูต” และจัดงานประชุมสงฆ์นานาชาติ หัวข้อ“พุทธพลิกสุวรรณภูมิ สามัคคีธรรม แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง” และ “พุทธพลิกสุวรรณภูมิ พลิกปัญหาสู่มรรคา” ที่โรงแรม โซฟิเทล อังกอร์ โภคีธรา กอล์ฟ & สปา รีสอร์ท เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
พ.ศ.2560, พ.ศ.2562, พ.ศ.2567
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 มีความเชื่อมั่นในพระพุทธานุภาพแห่งมหาศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงร่วมใจกันจัดโครงการธรรมยาตราโพธิคยาขึ้น โดยวางใจว่าทุกแผ่นดินที่ไปเยือน คือบ้านดุจมีพ่อเดียวกัน คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีแม่เดียวกันคือ แม่น้ำโขงด้วยเกิดภูมิลำเนาเดียวกัน
งานธรรมยาตราเกิดขึ้นได้ด้วย พระอาจารย์ใหญ่ ดร. พระมหาผ่อง สะมาเลิก อดีตประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นผู้จุดประกายความคิดและมอบนโยบายไว้ จึงก่อกำเนิดงานโครงการธรรมยาตราโพธิคยาขึ้นมา และได้จัดผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง ดังนี้
พ.ศ. 2560 จัดครั้งที่ 1 ในชื่อ ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง
พ.ศ. 2562 จัดครั้งที่ 2 ในชื่อ ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน พุทธศาสตร์การทูตเพื่อสันติภาพโลก
พ.ศ. 2567 จัดครั้งที่ 3 ในชื่อ ธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง
อุปถัมภ์โครงการโดย มูลนิธิวีระภุชงค์
พ.ศ.2562 - ปัจจุบัน
งานวิจัยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค เป็นโครงการต่อยอดหลังจากงาน ธรรมยาตราโพธิคยาทั้ง 2 ครั้ง ในหัวข้อ อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 5 แผ่นดิน ที่มีต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และ ประเพณี เป็นความร่วมมือระหว่าง “สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย” กับ “คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” โดยการสนับสนุนของมูลนิธิวีระภุชงค์ ซึ่งโครงการวิจัยอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค จะเป็นงานวิจัยที่รวบรวมความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค แบบครบทุกมิติ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะรวบรวมความเชื่อเกี่ยวกับ “พญานาค” ในพุทธศาสนาโดยมีเป้าหมายนำองค์ความรู้ “ความเชื่อเรื่องพญานาค” ยกระดับเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และขอขึ้นทะเบียนรายการต่อองค์การยูเนสโกร่วมกัน 5 ประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม นี่คือความฝันของพวกเรา ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของชาวพุทธลุ่มน้ำโขงที่มีมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกัน
พ.ศ.2566 - พ.ศ.2567
รางวัลโพธิคยานาคาธิบดี คือ รางวัลแห่งการยกย่องเชิดชูคุณความดีของพญานาคที่ได้บำเพ็ญโพธิธรรม เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงถาวรสืบไป เปรียบดั่งคุณความดีขององค์พญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนามาอย่างโดดเด่น ตามหลักฐานที่มีปรากฏอยู่ในพระพุทธศาสนา และจากคำสอนของพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้ปรากฏให้เห็นและรับรู้เป็นเรื่องราวมาเป็นเวลายาวนานกว่า 2600 ปี และได้มีบันทึกไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นจำนวนมาก และจากศรัทธาความเชื่อเรื่องพญานาคของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีมาตั้งแต่บรรพกาลผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน
Head Office
Wat Thai Buddhagaya (Royal Thai Monastery Buddhagaya),
Bodhgaya Pin.824231, Dist. Gaya, State; Bihar, India
Thailand Office
14 Ngamwongwarn 8 Alley BangKhen
Mueang Nonthaburi Nonthaburi 11000